How To ลดอาการปวดหลัง ออฟฟิศซินโดรม

ประกันโรคร้ายแรง, ปวดหลัง ออฟฟิศซินโดรม

ชาวออฟฟิศทั้งหลาย ไหนลองหยิบกระดาษและปากกาขึ้นมาทำแบบทดสอบต่อไปนี้พร้อมๆ กัน

 

  • คุณมักนั่งทำงานอยู่ที่โต๊ะไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน
  • คุณมีอาการปวดตึงบริเวณต้นคอ บ่า ไหล่
  • คุณรู้สึกปวดแขน หรือ รู้สึกชาบริเวณปลายนิ้วมือ
  • คุณมีอาการปวดศีรษะเรื้อรังเป็นเวลานาน

 

หากคุณเช็คเครื่องหมายถูกเกือบหมดทุกข้อแล้วล่ะก็ นี่คือสัญญาณเตือนที่ส่งตรงมาถึงเหล่ามนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย ว่าคุณอาจจะเข้าข่ายการเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) เข้าให้แล้ว

 

 

ออฟฟิศซินโดรมคืออะไร

 

แน่นอนว่าเมื่อคุณมีความจำเป็นที่จะต้องนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ โดยไม่ได้มีการเปลี่ยนอริยาบถ ร่างกายจึงมีการใช้มัดกล้ามเนื้อเดิมๆ ซ้ำๆ จนทำให้เกิดการปวดกล้ามเนื้อ และ เนื้อเยื่อพังผืด รวมไปถึงการอักเสบของเอ็นและเนื้อเยื่อ ส่งผลให้เกิดอาการปวดเมื่อบริเวณต้นคอ บ่า ไหล่ ข้อมือ หรือ แขน

 

 

ความอันตรายของออฟฟิศซินโดรม

 

หากคุณเกิดอาการออฟฟิศซินโดรม จำเป็นจะต้องใช้การรักษาทุกวิธีเพื่อหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บที่ร้ายแรงขึ้น และเนื่องจากเป็นอาการเรื้อรังที่มาจากการทำพฤติกรรมเดิมๆ ซ้ำๆ เป็นเวลานาน การจะหายขาดก็คงต้องใช้เวลาเช่นเดียวกัน

 

วัยทำงานหลายคนที่ยังละเลยการดูแลตัวเอง และ นั่งทำงานในท่าเดิมๆ เป็นเวลานาน คงเริ่มเห็นถึงความร้ายกาจของโรคออฟฟิศซินโดรมกันแล้ว โดยเฉพาะการเจ็บปวดบริเวณหลัง เพราะจะส่งผลกระทบตามมาถึงชีวิตประจำวัน ที่ทำให้คุณไม่สามารถนั่งบนเก้าอี้ หรือ โซฟา ได้เป็นเวลานานๆ หรือแม้กระทั่งอาจรู้สึกปวดหลังระหว่างนอนหลับ ทำให้คุณพักผ่อนไม่สนิท และอาจนำมาสู่การมีอารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียว ไม่มีสมาธิในการทำงานเลยก็เป็นได้

 

วันนี้เราจึงมี How To ลดอาการปวดหลัง จากออฟฟิศซินโดรม มาฝากพนักงานออฟฟิศ หรือใครก็ตามที่มักจะต้องนั่งเรียน นั่งทำงาน ในอริยาบถเดิมๆ เป็นเวลานาน โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคร่าวๆ คือการแก้ในระยะสั้น และ การแก้ในระยะยาว

 

 

การลดอาการปวดหลัง จากออฟฟิศซินโดรมระยะสั้น

 

1. การกินยา

 

คุณสามารถไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อปรึกษาอาการ และ ขอรับยาแก้อักเสบ หรือ ยาแก้ปวดกล้ามเนื้อ เพื่อบรรเทาอาการในเบื้องต้น สำหรับคนที่ยังคงมีความจำเป็นที่ยังจะต้องทำงานในไลฟ์สไตล์เดิมๆ แต่แน่นอนว่ามันเป็นเพียงแค่การแก้ที่ปลายเหตุเท่านั้น เพราะก็เป็นเพียงแค่ทานยาเข้าไปลดความเจ็บปวด หากคุณก็ยังคงใช้คอมพิวเตอร์ หรือ แลปท็อปในการทำงานเป็นเวลานานๆ สาเหตุของโรคที่แท้จริงก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม จึงขอแนะนำให้คุณมองการการรักษาในขั้นต่อๆ ไปควบคู่กันไปด้วย

 

2. การนวด

 

นอกจากจะช่วยเรื่องการผ่อนคลายแล้ว การนวดก็ถือเป็นวิธีการรักษาการปวดกล้ามเนื้อที่ดีอีกวิธีหนึ่ง แต่ได้ยินอย่างนี้แล้วอย่าเพิ่งรีบหยิบกุญแจรถบึ่งไปร้านนวดใกล้ๆ บ้านล่ะ เพราะผู้ที่มีอาการออฟฟิศซินโดรม หรือ ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อ จำเป็นต้องได้รับการนวดอย่างถูกวิธี ไม่เช่นนั้นอาจจะลุกลามจนกลายเป็นอาการร้ายแรงอื่นๆ ตามมา หากคุณต้องการจะเลือกการแก้อาการปวดจากโรคออฟฟิศซินโดรมด้วยวิธีนี้ ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่เชื่อถือได้เท่านั้น

 

3. ฝังเข็ม

 

การฝังเข็มถือเป็นการรักษาของแพทย์แผนจีน ที่เป็นการกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต อีกทั้งยังเป็นการเน้นปรับสมดุลของร่างกาย ซึ่งจะนำมาสู่สุขภาพที่แข็งแรงอย่างยั่งยืน หากใครที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับศูนย์แพทย์แผนจีน โดยเลือกเป็น ‘การฝังเข็ม เพื่อรักษาอาการออฟฟิศซินโดรม’ ซึ่งในปัจจุบันหลายที่ก็มีการพัฒนาศาสตร์จีนดั้งเดิมควบคู่กับเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือที่เรียกกันว่าการแพทย์แบบผสมผสาน รับรองว่าไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลายๆ คนคิดแน่นอน

 

4. การทำกายภาพบำบัด

 

กายภาพบำบัดจะช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อจากความเสียหาย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจะทำการประเมินตามอาการ และ ร่างกายแต่ละคน เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการรักษามากที่สุด สำหรับใครที่ไม่อยากทานยา หรือ กลัวการฝังเข็ม ก็อาจจะลองเลือกการรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัด แต่อย่าลืมว่าจะต้องเป็นการรักษาโดยศูนย์ฟื้นฟู หรือ ศูนย์กายภาพบำบัดที่ดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเท่านั้น

 

 

การลดอาการปวดหลัง จากออฟฟิศซินโดรมระยะยาว

 

1. การจัดท่านั่งในการทำงาน

 

แน่นอนว่าการปรับเปลี่ยนอริยาบถในการทำงาน ถือเป็นการช่วยลดความเจ็บปวดจากโรคออฟฟิศซินโดรมได้ในระยะยาว เพราะเป็นการแก้ตั้งแต่ต้นเหตุ อาการปวดหลังอาจเกิดได้จากการนั่งเก้าอี้ที่ไม่สมดุล หรือ การนั่งหลังค่อม ซึ่งปรับแก้ได้ง่ายๆ โดยการปรับพนักเก้าอี้ให้พอดีกับขอบโต๊ะทำงาน อยู่ในระดับที่ไม่ต้องก้มลงไปจ้องจอคอมพิวเตอร์มากเกินไป เพราะนอกจากจะทำให้ลดอาการปวดต้นคอ บ่า ไหล่ ที่ต้องเกร็งอยู่ตลอดเวลาแล้ว ยังช่วยทำให้คุณนั่งหลังตรงขึ้น หรือใครจะหาตัวช่วยอย่างหมอนอิงมาไว้รองบริเวณเอวด้านหลัง เพื่อให้สามารถเอนหลังพิงพนักเก้าอี้ได้อย่างเป็นธรรมชาติก็ช่วยได้เช่นกัน

 

 

2. การออกกำลังกายเป็นประจำ

 

หลายคนคงแอบเถียงอยู่ในใจว่าการออกกำลังกายในออฟฟิศนั้นไม่สามารถทำได้ง่ายๆ คงไม่มีใครกล้าปูเสื่อเล่นโยคะกลางที่ทำงานแน่นอน แต่การออกกำลังกายเพื่อลดการปวดหลัง จากออฟฟิศซินโดรมนี้ สามารถทำได้โดยการกายบริหารร่างกายอย่างง่ายๆ เช่น การบิดเอวไปมาบนเก้าอี้ การประสานมือแล้วเหยียดขึ้นเหนือศรีษะ คล้ายๆ การบิดขี้เกียจ

 

หรือแม้กระทั่งการลุกขึ้นจากเก้าอี้เพื่อยืดเส้นยืดสายแค่สัก 5 นาทีในทุกๆ ชั่วโมง ก็จะช่วยให้คุณไม่ติดนิสัยการนั่งอุดอู้อยู่กับที่ และ ทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่ามากขึ้นอีกด้วย ถ้าเห็นแล้วว่าการออกกำลังกายไม่ใช่เรื่องใหญ่ ก็อย่าลืมชวนเพื่อนร่วมงานขยับแข้งขยับขาต้านออฟฟิศซินโดรมกันด้วยนะ

 

การหาแนวทางที่ช่วยลดอาการปวดหลัง จากออฟฟิศซินโดรมนั้น ก็ถือเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับโรคยอดฮิต ที่ชาวออฟฟิศทั้งหลายคงขยาดตั้งแต่ได้ยินชื่อ เพราะ ออฟฟิศซินโดรม นอกจากจะถือเป็นการเจ็บป่วยเรื้อรังแล้ว ยังต้องอาศัยการรักษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายสูงตามไปด้วย

 

แบบประกันคุ้มครองโรคร้ายแรง ประกันมะเร็ง ไทยประกันชีวิต

 

นอกจากการดูแลตัวเองให้ดีแล้ว ก็ยังมีตัวช่วยดีๆ ที่จะมาดูแลค่าใช้จ่ายในการรักษาให้กับคุณ กับ ประกันโรคร้ายแรง จากไทยประกันชีวิต ที่จะคุ้มครองดูแลในส่วนของกลุ่มโรคร้ายแรง ทั้งค่าใช้จ่ายในการรักษาที่คุณไม่สามารถประเมินได้ และ ความกังวลใจที่จะต้องเป็นภาระให้กับครอบครัวก็จะหมดไป เพียงแค่วางแผนและเตรียมความพร้อมไว้ตั้งแต่ก่อนเกิด คุณก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างอุ่นใจ

 

เพราะสุขภาพนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่สุด อย่าลืมใส่ใจดูแลตัวเอง พร้อมกับมองหาแผนรับมือที่ดีควบคู่กันไปด้วยเพื่อความปลอดภัยไร้กังวลในการใช้ชีวิต